
ประวัติความเป็นมา
ตามพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีพระดำริว่า
“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรที่ข้าพเจ้าตั้งใจจัดตั้งขึ้นเพื่อถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และการวิจัยที่จะสร้างบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง พร้อมบริการสังคม ด้วยความรู้ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่น และด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากล แก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ”
ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทั้งเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดค่านิยม แนวความคิด อาชีพความเป็นอยู่ และวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New Normal) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความต้องการ
การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ตามอัตราการเจริญเติบโตของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศและระดับโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงพึ่งพาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านการพัฒนาคน สังคม และระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสม ให้สามารถปรับตัวและก้าวหน้าต่อไปภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การพัฒนาประเทศให้อยู่บนพื้นฐานของความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ซึ่งต้องมุ่งให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับการพัฒนากำลังคนในประเทศที่มีสมรรถนะสูง ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ดังนั้น การผลิตบุคลากรและการสนับสนุนการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยบุคลากรผู้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเหมาะสม จึงมีความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน ความจำเป็นดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (ฉบับปัจจุบัน) หมุดหมายที่ 4 ที่มุ่งนำพาให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ 1) ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากสินค้าและบริการสุขภาพ 2) องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีศักยภาพเอื้อต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการทางสุขภาพ 3) ประชาชนไทยได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และ 4) ระบบบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพมีความพร้อมที่จะรองรับภัยคุกคามสุขภาพ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องมีการสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่ปัจจุบันการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ทางวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังมีจำนวนน้อย และขาดแคลนบุคลากร ผลงานวิจัย รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นที่ต้องการของสังคมและประเทศชาติ เพื่อผลักดันศักยภาพของประเทศชาติ
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดการศึกษา
การวิจัย และให้บริการวิชาการหรือวิชาชีพทางด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการผลิตบุคลากร การพัฒนาและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และมุ่งผลักดันสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ ต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจและสังคม จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดมาตรฐานการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรองรับการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) โดยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของคณะฯ ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการผลิตและใช้งานบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศ เป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับปรัชญาอุดมศึกษาไทยและระบบอุดมศึกษาใหม่ เป็นไปตามแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1-4 สะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจสำคัญของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการผลิตบุคลากร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนวิทยาการทางการแพทย์ของประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อช่วยสนับสนุนและลดช่องว่างในการรับบริการทางการแพทย์ของประชาชน และลดการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ (โครงการจัดตั้ง) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังเป็นองค์กรที่มีเจตจำนงค์มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะในการวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณธรรม จริยธรรม ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิตและจิตสาธารณะ การสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์แบบบูรณาการระหว่างงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และนำพาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อความเป็นเลิศในการสร้างคุณค่าต่อทุกชีวิตอย่างยั่งยืนตามนโยบายของประเทศชาติและความต้องการของสังคม
โครงสร้างองค์กร

ค่านิยมองค์กร
คณะวิทยาศาสตร์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
C
Creativity and Commitment
คิดสร้างสรรค์และมุ่งมั่นในการทำงาน
R
Research Excellence
มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านการวิจัย
A
Altruism
เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญและรับผิดชอบต่อสังคม
S
Science and Technology
นำพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
C
Collaboration
ร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างเต็มความสามารถ
I
Innovation
มุ่งคิดค้น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์จริง